ประเภทของบอร์ดเกม
สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มสนใจบอร์ดเกม หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ บอร์ดเกมมันมีกี่ประเภทกันแน่ แล้วแต่ละประเภท มันต่างกันยังไง ? วันนี้ทาง Stronghold จะมาอธิบายประเภทของบอร์ดเกมแบบคร่าวๆ ให้ทุกคนฟังกัน ! โดยจะมี 4 ประเภทหลักๆ ดังนี้
1. เกมปาร์ตี้
ถ้าต้องการเกมที่เอาไว้เล่นเฮฮาเวลาออกทริปกับเพื่อนหรือเกมบลัฟที่ทุกคนพร้อมจะหักหลังกันและกัน เกมปาร์ตี้นี่แหละเหมาะสำหรับคุณ เพราะเกมประเภทนี้คือเกมที่จะทำให้ทุกคนหันมาคุยกัน หลายๆ เกมมักจะต้องอาศัยการพูดคุยเพื่อดำเนินเกม ส่วนใหญ่แล้วกฎการเล่นจะเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน อธิบายไม่ถึง 10 นาทีก็สามารถเริ่มเล่นได้เลย นอกจากนั้น เพราะมันเป็นเกมปาร์ตี้ เกมประเภทนี้เลยใช้เวลาเล่นไม่นาน จะได้เล่นได้หลายๆ รอบและสามารถเล่นกับเพื่อนตั้งแต่กลุ่มเล็กไปจนถึงกลุ่มใหญ่ บางเกมเล่นได้ถึงเกือบ 100 คนเลยทีเดียว เรียกได้ว่า เพื่อนมากหรือเพื่อนน้อยก็เล่นได้แน่นอน
เช่น
Ultimate Werewolf: Deluxe Edition (2014)
สายเกมบลัฟน่าจะรู้จักเกมนี้กันเป็นอย่างดี จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อในหมู่ชาวบ้านอย่างพวกเราดันมีมนุษย์หมาป่าแอบแฝงอยู่ โดยเกมนี้ชาวบ้านจะต้องรีบตามหาและกำจัดมนุษย์หมาป่าที่แฝงตัวอยู่ให้ไวที่สุด เพราะว่าทุกๆ คืน พวกมันจะออกมาฆ่าชาวบ้านไปทีละคนจนกว่าจะเหลือแค่พวกมันเอง ! เกมนี้เหมาะกับการเล่นกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ๆ อย่างมาก เพราะเกมนี้เล่นได้ตั้งแต่ 5-75 คนเลยทีเดียว ทุกคนจะได้รับบทบาทที่ต่างกันออกไป และจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้นะ ผู้เล่นทุกคนต้องพยายามพูด เพราะถ้าไม่พูด ก็ไม่มีทางเดาออกเลยว่าใครคือเจ้ามนุษย์หมาป่าที่แฝงตัวอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องพูดความจริง เกมนี้จึงเต็มไปด้วยการหลอกกันไปหลอกกันมา ใครจะไปรู้ล่ะ ไม่แน่คนที่ไว้ใจ สุดท้ายอาจจะร้ายที่สุดก็เป็นได้
เกมนี้ยังมีอีกหลายเวอร์ชัน ตั้งแต่ One Night Ultimate Werewolf ที่เล่นคืนเดียวจบ จนถึง One Night Ultimate Alien ที่เปลี่ยนจากหมาป่าเป็นเอเลี่ยนแทน
ระยะเวลา : 30 นาที
จำนวนผู้เล่น : 5-75 คน
Avalon (2012)
อนาคตของอาณาจักรคาเมล็อตอยู่ในกำมือของพวกคุณแล้ว เมื่อฝ่ายธรรมะต้องมาเจอกับฝ่ายอธรรม Avalon เป็นอีกเกมหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมากในหมวดหมู่เกมปาร์ตี้ ผู้เล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่าย “อัศวินของกษัตริย์อาเธอร์” กับฝ่าย “ลูกสมุนของมอร์เดร็ด” หัวหน้าอัศวินจะต้องเลือกคนไปทำภารกิจ แต่ถ้าไว้ใจผิดคน ภารกิจก็อาจจะล้มเหลวได้เหมือนกัน มีแค่เมอร์ลินเท่านั้นที่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าออกตัวชัดเจนเกินไป ก็อาจจะโดนมือสังหารจัดการได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผู้เล่นแต่ละคนก็ต้องคอยสังเกตการกระทำของคนอื่นให้ดี เพราะไม่แน่ เพื่อนอัศวินของเราอาจจะเป็นสมุนของอีกฝ่ายก็ได้
ระยะเวลา : 30 นาที
จำนวนผู้เล่น : 5-10 คน
Throw Throw Burrito (2019)
ชอบกินเบอร์ริโต้ใช่มั้ย ? ชอบเล่นดอดจ์บอลใช่มั้ย ? ถ้าใช่ เกมนี้คือตรงใจคุณเลยล่ะ ถ้าหาโอกาสแกล้งเพื่อนมานานแล้วแต่ไม่สบโอกาสสักที ต้องมาเปิดสงครามปาเบอร์ริโต้กับเกมนี้แล้ว !! ผู้เล่นต้องรีบเก็บการ์ดให้ครบเซ็ต แต่เมื่อไหร่ที่มีคนลงการ์ดเบอร์ริโต้ล่ะก็ เตรียมตัวหลบได้เลย เพราะจะมีเบอร์ริโต้อันเบ้อเริ่มลอยมาแน่นอน ถ้าใครโดนเบอร์ริโต้ก็จะเสียคะแนนที่อุตส่าห์ทำมาจากการเก็บการ์ดเป็นเซ็ต สุดท้าย จะเหลือเพียงแค่ 2 คนและจะเกิดการดวลเบอร์ริโต้ขึ้น (ไม่ต่างจากการดวลปืนของเหล่าคาวบอยเลย) คนที่เหลือรอดเป็นคนสุดท้ายจะเป็นผู้ชนะแห่งศึกเบอร์ริโต้ครั้งนี้
ระยะเวลา : 15 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-6 คน
2. เกมครอบครัว
ถ้าต้องการเกมที่เหมาะสำหรับเล่นทั่วไป เล่นกับใครก็ได้ ไม่ได้ง่ายจนน่าเบื่อแต่ก็ไม่ได้ยากจนปวดหัว ก็ต้องเป็นเกมครอบครัวเลย มันคือเกมประเภทที่ไม่ว่าคุณแม่วัย 40 หรือลูกชายวัย 10 ขวบก็จะสนุกไปกับมัน หลายๆ เกมครอบครัวมักจะกำหนดผู้เล่นไว้สำหรับ 1-4 คน แต่อันที่จริงแล้ว คำว่า “ครอบครัว (family)” ไม่ได้หมายความว่า เกมประเภทนี้ต้องเล่นกับพ่อแม่พี่น้องเท่านั้น แต่มันหมายความว่า เล่นได้ “ทุกเพศ ทุกวัย” เรียนรู้ง่าย คนที่ไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาก่อนก็เล่นได้ แถมยังใช้เวลาไม่นานมากในการเล่นหนึ่งครั้งอีกด้วย
เช่น
Azul (2017)
เกมรางวัล “Spiel Des Jahres 2018” และ เกมครอบครัวอันดับ 1 บนเว็ปไซต์ Boardgamegeek เมื่อกษัตริย์มานูเอลที่ 1 แห่งโปรตุเกสต้องการตกแต่งพระราชวังเอโวราที่โปรตุเกสด้วยกระเบื้องสีสันสดใสแบบที่อาลัมบรา ก็เป็นหน้าที่ของเหล่าศิลปินนักจัดกระเบื้องอย่างพวกเราที่จะต้องทำตามพระราชประสงค์ ผู้เล่นจะต้องเลือกกระเบื้องจากโรงงานแล้วนำมาออกแบบลวดลายบนผนังให้เป็นรูปแบบต่างๆ เพื่อเก็บแต้มตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยบางทีกระเบื้องที่เราต้องการอาจจะไม่เพียงพอหรือโดนเพื่อนหยิบไปแล้ว แล้วจะเปลี่ยนแผนยังไงดีล่ะ ? เกมนี้เลยเป็นเกมครอบครัวที่สามารถเล่นได้ทั้งกับเพื่อน พ่อแม่ หรือลูกหลานก็ได้
ระยะเวลา : 30-45 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-4 คน
Century: Spice Road (2017)
มาค้าเครื่องเทศกับเกม Century กันเถอะ ! เกมนี้จะให้เรารับบทบาทเป็นพ่อค้าแห่งเมืองคาราวานเนียที่เดินทางค้าขายเครื่องเทศผ่านเส้นทางสายไหม โดยผู้เล่นจะต้องเก็บสะสมเครื่องเทศเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับสถานที่ต่างๆ ในอีกฟากโลกหนึ่ง เป็นเกมที่เข้าใจไม่ยาก แต่ความสนุกไม่แพ้เกมอื่นเลย เพราะเกมนี้มีถึง 4 แอ็กชันให้เลือกใช้ และแต่ละแอ็กชันก็ต้องอาศัยการวางแผนล่วงหน้าเพื่อที่จะได้ซื้อการ์ดที่ต้องการ ยกเว้นว่าจะมีคนตัดหน้าเราซะก่อนนะ เมื่อจบเกม คนทีได้แต้มเยอะที่สุดเป็นผู้ชนะ
นอกจากนี้เกม Century ยังมีอีกหลายเวอร์ชัน เช่น Century: A New World ที่มีการผสมผสานวิธีการเล่นแบบ Worker replacement เข้ามาด้วยหรือ Century: Golem Edition ที่เปลี่ยนจากการค้าเครื่องเทศเป็นคริสตัลวิญญาณเพื่อสร้างโกเลม
ระยะเวลา : 30-45 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-5 คน
Camel Up (Second Edition) (2018)
สนใจมาแข่งอูฐกันมั้ย ? กลางทะเลทรายอันร้อนระอุ พวกเราในฐานะเศรษฐีแห่งตะวันออกกลางจะต้องมาเดิมพันกันว่าอูฐตัวไหนจะเข้าเส้นชัยเป็นตัวแรก ยิ่งรีบเดิมพัน ยิ่งได้เงินเยอะ แต่ต้องระวังนะ ! เพราะมีเจ้าอูฐบ้าคลั่งเสียสติวิ่งไปวิ่งมา ป่วนทั้งการแข่งขันเลย ผู้เล่นจะต้องอาศัยดวงและเลือกเดิมพันอูฐที่ตนเองคิดว่าจะชนะและรอลุ้นในตอนจบรอบ แต่อย่าชะล่าใจไป เพราะถึงอูฐที่เลือกจะนำอยู่ ไม่แน่อาจจะมีอะไรมาปั่นป่วนทำให้อูฐตัวอื่นแซงหน้าขึ้นมาก็ได้
เวอร์ชันนี้เป็นเวอร์ชันที่อัพเดตมาจาก Camel Up (2014) ที่เปลี่ยนอาร์ตเวิร์กและบอร์ดยกเซ็ต มีต้นปาล์มยักษ์ป๊อปอัพ 3 มิติและพีระมิดไว้ทอยเต๋าแบบใหม่อีก เรียกได้ว่าเปลี่ยนแทบจะทั้งกล่องเลย
ระยะเวลา : 30-45 นาที
จำนวนผู้เล่น : 3-8 คน
3. เกม KIDS
ถ้าต้องการเกมที่เด็กเล่นได้เพลินๆ แถมผู้ปกครองก็สามารถเล่นไปพร้อมกับเขาด้วย เกมหมวด KIDS นี่เหมาะกับคุณมาก เกมประเภทนี้มักจะมีกติกาที่ง่าย เด็กที่อายุไม่ถึง 10 ขวบก็เล่นได้ ตัวเกมและธีมมีอาร์ตเวิร์กน่ารัก สีสันสดใส ดึงดูดความสนใจได้ดี นอกจากนั้น หลายๆ เกมยังออกแบบมาเพื่อเสริมทักษะและการเรียนรู้ของเด็กอีก เช่น เสริมทักษะด้านศิลปะ ด้านการคิดวิเคราะห์ หรือแม้กระทั่งด้านคณิตศาสตร์ผ่านการบวกเลข แต่เช่นเดียวกับเกมครอบครัว เกมเด็กก็ไม่จำเป็นจะต้องเล่นกับเด็กเท่านั้น เพราะหลายๆ เกมก็เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใหญ่เหมือนกัน เพราะเล่นง่าย ไม่ต้องเค้นสมองมาใช้มาก แถมยังสนุกไม่แพ้เกมประเภทอื่นเลย
เช่น
Gone Fishing (2019)
มาตกปลาแล้วไปขายที่ตลาดปลากันเถอะ ! เกมนี้มาพร้อมกับธีมและอาร์ตเวิร์กที่สดใสเหมาะกับเด็ก เราจะได้ใช้อวนจับปลาที่อยู่ในทะเล แต่ว่าขณะที่โยนอวนลงไป อย่าให้อวนแตะตัวปลาเด็ดขาดนะ ! เพราะไม่งั้นปลามันจะดิ้นจนอวนหลุดน่ะสิ จะทำการใหญ่ ใจ (และมือ) ต้องนิ่ง พอจับปลาได้ เราก็ต้องเลือกปลาตัวหนึ่งเข้าตลาดปลา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ปลาชนิดนั้น ท้ายที่สุดใครที่มีแต้มมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ เป็นเกมที่กติกาเข้าใจง่าย เล่นไม่ยาก แต่รับรองว่าสนุกแน่นอน !
ระยะเวลา : 30 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-4 คน
My Little Scythe (2017)
หากอยากลองให้เด็กได้ลองเล่นเกมที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย อยากให้ชวนเขาลองเล่นเกม My Little Scythe ดู เพราะเกมนี้ใช้รูปแบบการเล่นคล้ายกับเกมชื่อดัง Scythe แต่เป็นฉบับที่เข้าใจง่ายมากกว่า แถมยังปรับอาร์ตเวิร์กให้กลายเป็นเจ้าสัตว์น้อยน่ารักหลายชนิด ผู้เล่นสามารถเลือกทำ 1 แอ็กชันจาก 3 แอ็กชัน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มคะแนนมิตรภาพ เรียนคาถา ส่งเพชรไปยังปราสาทเอเวอร์ฟรี หรือแม้กระทั่งต่อสู้ในศึกปาพาย ! ผู้ที่ได้ถ้วยรางวัลครบ 4 ถ้วยจาก 8 หมวดก่อนคนแรกจะเป็นผู้ชนะ
ระยะเวลา : 40-60 นาที
จำนวนผู้เล่น : 1-6 คน
Codenames (2015)
เกมทายคำที่ชนะรางวัล “Spiel Des Jahres” ประจำปี 2016 บอกเลยว่าสมกับที่ได้รางวัลมาก เพราะว่าเป็นที่นิยมในหมู่ผู้เล่นทุกเพศ ทุกวัย ทั้งสองทีมจะได้รับบทเป็นสายลับและจะมีเพียงหัวหน้าสายลับเท่านั้นที่รู้ว่าสายลับคนอื่นซ่อนอยู่ภายใต้คำใบ้คำไหน เพราะว่าถ้าคุณใบ้ไม่ดีแล้วสายลับของคุณเผลอไปเลือกการ์ดของอีกฝ่ายล่ะก็ เตรียมตัวเสียคะแนนได้เลย ! เกมนี้ผู้เล่นจะได้ใช้ทักษะจินตนาการอย่างเต็มที่เวลาใบ้คำ และคนทายคำก็ต้องรู้ใจมากพอที่จะรู้ว่าอีกฝ่ายหมายถึงอะไร
เกมนี้ยังอีกหลายเวอร์ชันที่ปล่อยออกมาตามหลัง เช่น Codenames: Pictures ที่จะมาทายภาพแทนการทายคำและ Codenames สำหรับแฟนๆ เฉพาะกลุ่มเช่น MARVEL และ Harry Potter อีกด้วย
ระยะเวลา : 15 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-8 คน
4. เกมวางแผน
ถ้าต้องการเกมที่ก่อนจะทำอะไร ต้องคิดทุกก้าวทุกสเต็ป แถมยังต้องใช้สมองในการวางแผนแต่ละแอ็กชัน ก็คงต้องเลือกซื้อเกมวางแผน เพราะเกมประเภทนี้ทุกการตัดสินใจจะมีผลต่อการแพ้ชนะของเรา ผู้เล่นสามารถคำนวณการเคลื่อนไหวของตนเองได้ล่วงหน้า บางทีอาจจะถึงขั้นที่ว่านับการ์ดว่าใบไหนออกไปแล้ว ใบไหนยังเหลืออยู่เลยล่ะ โดยเกมวางแผนมักจะแยกออกได้อีกหลายประเภทตาม mechanic ของมัน เช่น Worker replacement หรือ Hand management เป็นต้น ส่วนเวลาที่ใช้เล่นก็แล้วแต่เกมเลย มีตั้งแต่ 30 นาทีไปจนถึง 3-4 ชั่วโมงเลยล่ะ เรียกได้ว่าถูกใจคนที่อยากเล่นบอร์ดเกมแบบจุใจเลยทีเดียว
เช่น
CATAN (1995)
บอร์ดเกมอมตะตลอดกาลที่แค่พูดชื่อ ใครๆ ก็น่าจะรู้จัก หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า “The Settlers of Catan” ในเกมนี้ เราจะรับบทเป็นผู้บุกเบิกแห่งคาทานและแข่งกันสร้างเมืองเพื่อครอบครองเกาะคาทานในที่สุด แต่ละตา ลูกเต๋าจะถูกทอยเพื่อลุ้นว่าเกาะจะผลิตทรัพยากรอะไรออกมา และผู้เล่นจะสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยการใช้ทรัพยากรที่ตนเองผลิตและเก็บสะสมมา เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องวางแผนและพูดคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร เรียกได้ว่า ถ้าพูดถึงเกมวางแผนอันดับ 1 ก็ต้องพูดถึง CATAN เลยล่ะ แต่ผู้เล่นใหม่ก็ไม่ต้องกลัวนะ เพราะว่าเกมนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แถมยังมีลูกเต๋าที่จะทอยทุกตา ไม่แน่ว่าโชคอาจจะเข้าข้างเราก็ได้
นอกจากนี้ เกม Catan ยังได้รับความนิยมมากจนออกภาคเสริมและภาคแยกอีกมากมาย เช่น Catan: Seafarers และยังมีเวอร์ชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้พกพาง่ายอย่าง Catan: Traveler – Compact Edition หรือแม้กระทั่งเล่นทางออนไลน์ในเว็บไซต์
ระยะเวลา : 60-120 นาที
จำนวนผู้เล่น : 3-4 คน
Root (2018)
ถ้าดูแต่กล่องและอาร์ตเวิร์ก หลายๆ คนอาจจะคิดว่า Root เป็นเกมน่ารักๆ เหมาะกับเด็ก ด้วยภาพเจ้าสัตว์ต่างๆ เดินเล่นอยู่ในป่าวูดแลนด์ แต่ความจริงแล้วเกมนี้เป็นเกมการเมือง สงคราม และวางแผนที่เข้มข้นที่สุดเกมหนึ่งที่เคยมีมาเลย เมื่อเกิดสงครามแย่งชิงดินแดนวูดแลนด์ คุณสามารถเลือกได้เลยว่าคุณจะเข้าร่วมกับมาร์กีซตระกูลแมว ราชวงศ์ปักษาเอียรี พันธมิตรแห่งวูดแลนด์ หรือนักพเนจร เพราะแต่ละฝ่ายก็มีบทบาทและวิธีเล่นที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่มาร์กีซเน้นการทำคะแนนจากการสร้าง ราชวงศ์ก็ต้องเร่งทวงคืนดินแดนที่เคยเป็นของตนกลับมา มาดูกันว่าใครจะเป็นผู้ครอบครองดินแดนนี้ในท้ายที่สุด
เกมนี้ยังมีภาคเสริมอีกหลายภาคที่จะเพิ่มจำนวนผู้เล่นผ่านการเพิ่มตัวละคร เช่น Root: The Underworld Expansion ที่เพิ่มดัชชี่ใต้พิภพ หรือ Root: The Riverfolk Expansion ที่เพิ่มพ่อค้าแห่งสายธารและกิ้งก่าเจ้าลัทธิเข้ามาด้วย
ระยะเวลา : 60-90 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-4 คน
Pandemic (2008)
เกมนี้เหมาะอย่างมากที่เล่นในช่วงโควิด-19 เพราะเราจะได้รับบทบาทเป็นทีมนักวิจัยโรคระบาดที่จะต้องออกเดินทางไปควบคุมและยับยั้งโรคระบาดที่กำลังกระจายไปทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องค้นหาวิธีการรักษาไปด้วย ซึ่งถ้าหากทำไม่ได้ โลกก็จะถูกไวรัสกลืนกิน ผู้เล่นจะได้รับหน้าที่ที่แตกต่างกันไปและแต่ละคนก็มีความสามารถพิเศษไม่เหมือนกัน เช่น นักวิทยาศาสตร์จะใช้การ์ดแค่ 4 ใบในการรักษาโรคแทนที่จะเป็น 5 ใบ รับรองว่าเกมนี้ได้วางแผนและพูดคุยกันตลอดการเล่นเกมอย่างแน่นอน !
Pandemic ยังได้รับความนิยมอย่างมากจนออกภาคแยกมาอีกนับสิบภาค เช่น Pandemic Contagion ที่พลิกบทบาทให้เรารับบทเป็นเจ้าเชื้อโรคร้ายแทน หรือ Pandemic: Rapid Response ที่เป็นการเล่นแบบเรียลไทม์ที่ผู้เล่นทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างยารักษาโรคภายในเวลาที่กำหนด
ระยะเวลา : 45 นาที
จำนวนผู้เล่น : 2-4 คน
แต่ความจริงแล้วบอร์ดเกมไม่ได้แบ่งเป็นแค่ 4 ประเภทนี้เท่านั้นนะ ถ้าจะลงรายละเอียดจริงๆ สามารถแบ่งได้เป็นร้อยแบบเลยล่ะ ! เพราะว่าการแบ่งแต่ละแบบก็ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป แต่เอาเป็นว่าหากเรารู้จักและเข้าใจทั้ง 4 ประเภทนี้ ซื้อเกมครั้งหน้าก็คงจะง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย เพราะรับรองว่า เกมที่ซื้อมาจะตรงใจคุณมากขึ้นแน่นอน
หากสนใจบอร์ดเกมที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสอบถามและสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ Stronghold ได้เลย
หรือทางเพจ The Stronghold SIAM : Gateway to Board Games